ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมาก มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ตามมา เช่น ถนน สะพานขนาดใหญ่ เป็นต้น ความทนทาน (Durability) ของโครงสร้างคอนกรีตเป็นสิ่งสำคัญและกำลังจะเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต โดยที่การผลิตโครงสร้างคอนกรีตให้ได้ความทนทานตามที่มาตรฐานกำหนดนั้น การอัดแน่น (Compaction) ของคอนกรีตที่เพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นและจะต้องทำโดยแรงงานที่มีฝีมือ (Skilled worker) โดยในปัจจุบันปริมาณแรงงานที่มีฝีมือมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณโครงการขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีผลทำให้คุณภาพงานก่อสร้างของประเทศไทยโดยเฉพาะในส่วนของความทนทานของโครงสร้างคอนกรีต (Durability) ลดลงตามไปด้วย กล่าวคือ ในขั้นตอนของการจี้เขย่าเพื่อทำการอัดแน่นคอนกรีต เป็นขั้นตอนที่เสียเวลาและเพิ่มความยุ่งยากในการก่อสร้างและอย่างยิ่งในโครงสร้างที่ซับซ้อนจะกระทำได้ยากทำให้เกิดปัญหาคอนกรีตไม่เต็มแบบดังรูป (แสดงโครงสร้างเสาเมื่อถอดแบบออกแล้ว)
ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว คำตอบหนึ่งที่เป็นทางแก้ไขในการปรับปรุงคุณภาพของโครงสร้างคอนกรีต ก็คือ คอนกรีตไหลเข้าแบบและอัดแน่นได้เอง (Self-Compacting Concrete) โดยที่ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มศึกษาปัญหานี้เมื่อประมาณปี คศ. 1988 และได้พัฒนาคอนกรีตไหลเข้าแบบและอัดแน่นได้เองที่เหมาะสมสำหรับงานในประเทศญี่ปุ่นมาตามลำดับ และในยุโรปและอเมริกาก็ได้เริ่มศึกษาปัญหานี้และพัฒนาคอนกรีตไหลเข้าแบบและอัดแน่นได้เองได้ไม่ถึง 5 ปี[Ouchi,2003]

ตั้งแต่ปี คศ.1988 ปริมาณการใช้คอนกรีตไหลเข้าแบบและอัดแน่นได้เองในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย มีการศึกษาเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วพบว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้การใช้คอนกรีตไหลเข้าแบบและอัดแน่นได้เองในโครงการต่างๆนั้น สรุปได้ 3 ข้อใหญ่ๆ ก็คือ [Ouchi,2003]
1. ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างลดลง
2. รับรองได้แน่นอนว่าคอนกรีตจะอัดแน่นและไหลเข้าแบบได้ 100 % โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก
3. ลดเสียงดังที่เกิดจากการจี้เขย่าคอนกรีตเพื่อให้เกิดการอัดแน่น โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตในโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีต
ดังนั้น การศึกษาเพื่อหาสัดส่วนผสมที่เหมาะสมในการผลิตคอนกรีตไหลเข้าแบบและอัดแน่นได้เอง นั้นน่าจะเป็นการพัฒนาการศึกษาดังกล่าวในประเทศไทยเพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคอนกรีตไหลเข้าแบบและอัดแน่นได้เองต่อไป โดยในการศึกษาปัญหานี้ได้เลือกวิธี Mixture Design Method ซึ่งจะวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะได้แบบจำลองพื้นผิวตอบสนองและคอนทัวร์พล๊อตของแต่ละส่วนผสม และจะนำไปสู่ส่วนผสมที่เหมาะสมที่สุด